เทศกาลตรุษจีน (春節)

ตรุษจีน หรือ เทศกาลตรุษจีน (春節) เป็นเทศกาลที่สำคัญและใหญ่สุดของคนจีนทั่วโลก เทศกาลนี้ที่แท้จริงแล้วคือการขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ชาวจีนจะเรียกชื่อเทศกาลนี้ว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ:ชุงเจี๋ย” (“ชุงโจ่ย”ในเสียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอง) ด้วยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวในจีนแผ่นดินใหญ่คือเวลาที่สิ้นสุดของฤดูหนาวใบไม้เริ่มผลิใบนั่นเอง

คนไทยเชื้อสายจีน ในเมืองไทยจะรู้จักตรุษจีนในมุมของ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว การแต๊ะเอีย ซองอั่งเปา การไหว้เทพเจ้าโชคลาภแต่ แท้จริงแล้วเทศการตรุษจีนนี้มีความหมายและช่วงเวลาที่ยาวนานมากกว่าที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบันมาก

เทศกาลตรุษจีนจริงแล้ว จะเริ่มขึ้นประมาณหลังวันที่15 เดือน12 ไปจนถึ่งวันที่ 15 เดือน1 ตามปฎิทินจันทรคติจีน กินระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

กิจกรรมแรกที่คนจีนจะทำคือ การทำความสะอาดบ้านเรือน ร้านค้า หิ้งพระ ศาลเจ้า โดยกิจกรรมนี้จะไม่มีการกำหนดวันที่ตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล การทำความสะอาดนี้จะเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดของปี เช็ดถูบ้านเรือนทุกซอกทุกมุม บ้างท่านนอกจะทำความสะอาดแล้วจะมีการทาสีประตูบ้าน ผนัง และบ้านเรือนใหม่ บางท่านจะถือโอกาสเปลี่ยนของใหม่ เช่น ป้ายหน้าร้าน ประตู รวมถึงกลอนมงคลคู่(ตุ๊ยเลี้ยง) และโคมไฟ(เต็งลั๊งหน้าบ้าน เป็นต้น ในส่วนของการทำความสะอาดที่บูชาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องทำความสะอาดให้ครบทั้งศาล เครื่องบูชาที่ตั้งประดับและองค์พระ

นอกจากนี้จะทำการเปลี่ยนเครื่องประดับกระถางธูปและผ้าแดงที่ติดกระถางธูป(กิมฮวย-อั้งติ้ว) พร้อมนำก้านธูปที่อยู่ในกระถางธูปออกทั้งหมด ธรรมเนียมการทำความสะอาดนี้จะทำได้จนถึงวันสุดท้ายคือวันก่อนวันไหว้ บางครอบครัวมีข้อห้ามว่าตั้งแต่วันไหว้ส่งเจ้าเตาขึ้นสวรรค์ห้ามไม่ให้ใช่ไม้เขี่ยหยากใย่ทำความสะอาดบ้านด้วยเชื่อว่าจะทำให้เจ้าเตาไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ และบางบ้านก็เชื่อว่าหลังหลังเจ้าขึ้นสวรรค์จะไม่เปลี่ยนแปลงแท่นบูชาในบ้านด้วยเชื่อว่าเมื่อเจ้าลงจากสวรรค์ตะจดจำแท่นบูชาเดิมไม่ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของครอบครัวที่เล่าสืบต่อกันมา

ธรรมเนียมการทำความสะอาดบ้านเรือนนี้มีรากความเชื่อมาจาก2ประการคือ

หนึ่งการขึ้นปีใหม่ เป็นการเริ่มวงจรชีวิตใหม่รับพลังเวลาใหม่ๆ ดังนั้นสิ่งต่างๆรอบตัวก็ควรเป็นสิ่งสะอาดใหม่และอีกหนึ่งความเชื่อ คือ วันตรุษจีนเป็นวันที่สวรรค์ประทานโชคลาภแก่มนุษย์ โชคลาภของสวรรค์เหล่านั้นไม่ชอบความสกปรกดังนั้นจึงต้องทำความสะอาดเพื่อรับโชคลาภดังกล่าว

กิจกรรมที่2 ที่คนจีนกระทำคือการไหว้ส่งเจ้าเตาขึ้นสวรรค์เพื่อขึ้นไปกราบทูลความดีความชอบของมนุษย์ที่ได้กระทำมาตลอดหนึ่งปีให้แก่องค์เจ้าสวรรค์หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทราบเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงประทานโชคลาภให้แก่มนุษย์ที่ได้กระทำความดีมาตลอดทั้งปี

คำถามที่มักได้ยินคือ เจ้าเตาคือเทพอะไร ทำไมต้องไหว้เจาเตา แล้วต้องไหว้เจ้าที่ไหม ต้องไหว้เจ้าองค์อื่นๆหรือไม่

คำตอบทั้งหมดคือเจ้าเตา(ซือเหม่งตี่กุง:司命帝君 ,เจ๊ากุง:灶君 ,เจ๊าซิ้ง:灶神)ก็คือ เจ้าประจำเตาไฟหุงหาอาหารในครัวประจำบ้านครับ เป็น1ในเทพเจ้าประจำครัวเรือนที่คนจีนเซ่นไหว้มาตั้งแต่ยุคโบราณ เหตุที่คนจีนมีความเชื่อว่าเจ้าเตาจะขึ้นสวรรค์ไปกราบทูลเง็กเซียน เพราะเจ้าเตาเป็นเทวดาที่ประจำอยู่ในบ้านตลอดเวลาจึงเห็นพฤติกรรมมนุษย์ตลอดเวลา คำถามคือแล้วเจ้าที่หรือภูมิเทวดา(ตี่จูเอี๊ย)ละไม่ได้อยู่ในบ้านตลอดเวลาหรือ คำตอบก็คือคนจีนสมัยก่อนไม่ได้บูชาเจ้าที่หรือภูมิเทวดาในบ้าน เนื่องจากชุมชนจีนสมัยก่อนเป็นชุมชนเกษตรกรจึงจะนิยมบูชาเจ้าที่หรือภูมิเทวดาในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนและเป็นการบูชาร่วมกันเรื่องนี้จะเห็นร่องรอยเหล่านี้ได้ในภาพยนต์จีนหลายๆเรื่อง

นอกจากนี้ผู้เขียนเคยไปประเทศจีนในเขตซัวเถา และเขตคนจีนแต้จิ๋วในประเทศจีน ก็พบว่าคนจีนที่นั้นก็ไม่นิยมบูชาเจ้าที่หรือภูมิเทวดาที่บ้านเหมือนกัน

สำหรับประวัติของเทพเจ้าเตานี้มีหลายตำรามากบ้างตำราก็มีองค์เดียว บางตำราก็มีเจ้าเตาคู่ บางตำราก็มีเจ้าเตา 3 องค์ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ทั่วๆไปผู้เขียนจะไม่นำมากล่าวซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่พบได้ตรงกันในทุกๆตำรา คือประวัติเจ้าเตานี้จะเกี่ยวกับความรักของชายหญิง การนอกใจของผู้ชายหรือหญิงในความรักนั้น การมีชู้ และจะจบลงด้วยการสำนึกผิดและชดเชยความผิดเหล่านั้นด้วยความจริงใจจนสุดท้ายได้เป็นเทพประจำเตาไฟ ค่อยสังเกตความประพฤติของมนุษย์ในครัวเรือน เรื่องนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องประวัติของเจ้าเตานี้ หากพิจารณาให้ดีก็คือศีลข้อ3 อันเกี่ยวกับการประพฤติผิดในกามอันเป็นความชั่วที่มนุษย์ชอบกระทำมากที่สุด

สรุปแล้วเจ้าเตานี้เสมือนหนึ่งคือเทวดาที่คอยดูแลปากท้องของคนในครอบครัวเรื่องอาหารการกินและคอยควบคุมความประพฤติและสอดส่องพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเอง

ธรรมเนียมการไหว้เจ้าเตานี้จะไหว้ในวันที่ 24 เดือน12ตามจันทรคติจีนโดยจัดของไหว้ มีผลไม้ 3 หรือ 5 อย่าง บางบ้านอาจใช้แค่ส้ม4-5ผล ขนมจันอับ น้ำชา 3- 5 ถ้วย และขนมที่มีความหวานและเหนียว โดยบ้างท้องถิ่นจะไหว้นิยมตังเม บ้างที่ก็ไหว้เป็นขนมแป้งข้าวเหนียวทอดมีลักษณะคล้ายกาลอจี เรียกว่า “ ตะลั้วก้วย” แต่บ้างที่ก็ไหว้ขนมอิ่วก้วย ลักษณะเป็นแป้งกลมสีขาว ข้างในใส้ถั่วกวน หรือเผือกกวน แต้มจุดสีแดงสาเหตุที่ต้องไหว้ขนมเหล่านั้นก็เพราะว่าต้องการให้เจ้าเตาขึ้นไปกราบบังคมทูลเง็กเซียนแต่เรื่องดีๆด้วยถ้อยคำหวานๆเรื่องไม่ดีให้ติดอยู่ที่ปากพูดไม่ออก ในต่างประเทศพบว่ามีการสักการะเจ้าเตาด้วยข้าวกับข้าว หรือชุดเนื้อสัตว์สามอย่าง(ซาแซ)ก็มี ยังมีเรื่องเล่าติดตลกกันว่า บางถิ่นจะสักการะเจ้าเตาด้วยเหล้า เพื่อให้เจ้าเตาเมา และไม่สามารถกราบทูลพฤติกรรมของคนในครอบครัวนั้นตามความเป็นจริงได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง เจ้าเตาบ้านนั้นคงโดนอาญาสวรรค์เป็นแน่

นอกจากนี้บางครอบครัวจะมีหญ้าและเมล็ดพืชใส่จานวางไหว้ด้วยเพื่อให้ม้าที่เป็นพาหนะเจ้าเตาบริโภค บางครอบครัวมีเคล็ดลับ เพิ่มข้าวสารใส่จานวางไหว้เจ้าเตา มิใช่เพื่อให้ม้า แต่เป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีและเหลือกินเหลือใช้ของครอบครัวนั้นอีกด้วย ส่วนกระดาษไหว้ก็ใช้กระดาษไหว้เจ้าทั่วไปมากน้อยตามแต่ความนิยม แต่เพิ่มเติมคือ กระดาษรูปนกกับรูปม้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพาหนะส่งเจ้าเตา บางครอบครัวใช้กระดาษตั่วกิมมาพับตามแนวทแยงเป็นสัญลักษณ์แทนม้าก็ได้ วิธีการไหว้ก็นำของไหว้ทั้งหมดไปไหว้บนเตาหรือหน้าเตา ในยุคโบราณคือเตาฟืนขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันคือเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ซ แล้วอธิฐานส่งเจ้าเตาไปสวรรค์พร้อมทั้งขอพรท่านด้วย

ธรรมเนียมการไหว้ส่งเจ้าเตานี้ต่อมาได้กลายเป็นการไหว้ส่งเจ้าที่(ตี่จูเอี๊ย) หรือภูมิเทวดาไปสวรรค์แทนเจ้าเตาทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนจีนในเมืองไทยนิยมตั้งบูชาเจ้าที่และภูมิเทวดาในบ้านดังนั้น เจ้าที่และภูมิเทวดานี้จึงเป็นเทวดาใกล้ชิดมนุษย์อีกองค์หนึ่งซึ่งการไหว้ส่งเจ้าที่นี้ก็เหมือนดังไหว้เจ้าเตาใช้ของเหมือนกันทุกประการ ซึ่งบ้างบ้านก็จะไหว้เจ้าที่พร้อมเจ้าเตาคู่กันเลย

การไหว้เจ้าเตานี้ระยะต่อมาได้พัฒนาไปอีกว่าเป็นการส่งเทพเจ้าทุกองค์ที่บูชาอยู่ในโลกมนุษย์เสมือนหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่เทวดาทั้งหลายกลับขึ้นสวรรค์ ดังนั้นคนที่มีความเชื่อแบบนี้ในวันดังกล่าวจะทำการไหว้เทพเจ้าทุกองค์ที่ตั้งบูชาในบ้าน รวมถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เพื่อส่งท่านไปสวรรค์

ธรรมเนียมความเชื่ออย่างนี้ก็ให้เกิดคำถามหลักขึ้นในสังคมปัจจุบันคือ เมื่อส่งเจ้าไปสวรรค์แล้วในวันสุดท้ายของปีหรือวันข้ามปี:วันไหว้ก๊วยนี๊(ที่คนจีนในไทยปัจจุบันเรียกว่าไหว้ตรุษจีน)เราจะไหว้เจ้าทำไมเพราะท่านไม่อยู่แล้ว อีกหนึ่งคำถามคือเจ้าสวรรค์หรือองค์เง็กเซียนไหว้ส่งท่านไปสวรรค์ที่ไหน ในเมื่อท่านก็เป็นเจ้าแห่งสวรรค์อยู่แล้ว คำถามทั้งสองนี้หากยึดตามประเพณีเดิมก็คือไม่ต้องไหว้ส่งครับ เพราะเดิมไหว้ส่งแต่เจ้าเตาเท่านั้น บางความเชื่อถือว่าเทพเจ้าที่ เป็นภูมิเทวดาที่มีหน้าที่ต้องอยู่ดูแลผืนดินและมนุษย์ ไม่สามารถขึ้นบนสวรรค์ได้