ค้านพิมพ์สลากเพิ่ม เชื่อข้ออ้างขายเกินราคา หวั่นมอมเมา ปชช.

 

      องค์กรเด็กออกแถลงการณ์ ค้านพิมพ์สลากเพิ่มมอมเมาประชาชน ชี้ข้ออ้างแก้ปัญหาเกินราคาแต่หวังโกยผลประโยชน์เพิ่ม ติงรัฐบาลต้องดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนแต่ใช้อำนาจกลับผิดเป็นถูก อัดสำนักงานสลากฯ ไม่แยแสเด็กเยาวชนนำสู่วัฏจักรอัปยศ

 

 

          เมื่อวันที่ 4 ก.ค.62 ที่เดอะฮอล์บางกอก เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดเวทีแถลงการณ์วิพากษ์การทำงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นน ต่อการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ด้วยการเพิ่มปริมาณสลากถึง 100 ล้านฉบับและการออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ โดยภาคีเครือข่ายได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนดังนี้

 

          1. คัดค้านการเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาล 100 ล้านฉบับ โดยขอให้ทบทวนให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม  ไม่ควรเกินจำนวนประชากรประเทศ ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนสลากที่ผ่านมามิได้ทำให้ปัญหาสลากเกินราคาดีขึ้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อเพิ่มปริมาณการมอมเมาประชาชน มุ่งหาเงินเข้ารัฐ ส่งผลกระทบต่อประชาชน 2. ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการเพิ่มสลากรูปแบบใหม่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยให้มีการศึกษาผลกระทบและจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และ 3. ขอให้รัฐบาลฟื้นกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมกลับมา เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันในสังคมไทย

 

 

          รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเพิ่มสลากโดยอ้างเป็นการแก้ปัญหาสลากเกินราคา เป็นสิ่งที่สำนักงานสลากฯ ต้องทบทวน เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมาก็ใช้วิธีนี้แต่ก็ล้มเหลว ไม่ได้แก้ปัญหาแต่กลับเป็นผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่รวมชุดสลากที่เป็นนายหน้า รวมถึงสำนักงานสลากฯและรัฐบาลที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สำนักงานสลากฯ เป็นองค์กรเดียวของรัฐที่ทำเรื่องการพนัน การเพิ่มสลากหรือออกหวยรูปแบบใหม่ต้องคำนึงผลกระทบรอบด้าน ไม่ใช่คิดแต่ผลประโยชน์ เพราะรัฐบาลต้องดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ผ่านมากลุ่มคนที่เล่นส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อยซึ่งซื้อเพื่อหวังเปลี่ยนชีวิต แต่ยิ่งไปเบียดบังภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพบมีเด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับสลากก่อนวัยอันควร เนื่องจากกฎหมายสลากกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี การเพิ่มสลากหรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่หากคิดบนฐานของการแสวงหาเงินจะนำมาซึ่งความวินาศของสังคม 

 

          ขณะที่นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามถึงสำนักงานสลากฯ ว่าคิดถึงเด็กและเยาวชนมากน้อยแค่ไหน หรือคิดถึงผลประโยชน์ตัวเองมาก่อน ขณะเดียวกันภาครัฐใช้อำนาจกลับผิดเป็นถูกนั้นถูกต้องหรือไม่ หลายเรื่องบอกไม่ทำแต่ใช้อำนาจกลับผิดเป็นถูก 2 ปีที่แล้วบอกสลากรวมชุดผิด จากนั้นมาบอกจะทำเอง หวยใต้ดินบอกผิด แต่จะเอาขึ้นมาบนดิน สิ่งที่ทำต่างๆ มีความรับผิดชอบหรือไม่

 

 

         ด้านนายปณิธาณ ศรีสร้อย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันเด็กเยาวชนไม่ให้เข้าถึงการพนันอย่างจริงจัง จึงอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณการขายสลากฯ มาสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันและแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการพนันให้เด็กและเยาวชน น่าเสียดายมากที่รัฐบาล คสช. เคยให้มีการจัดตั้งกองทุนนี้ไว้แล้วแต่กลับถูกยกเลิกไป

    

         ส่วนนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่สำนักงานสลากฯออกนโยบายพิมพ์สลากเพิ่ม ยิ่งมอมเมาให้คนไทยติดการพนันเพิ่มขึ้น จึงไม่เห็นด้วย ทั้งที่ภาครัฐเป็นผู้ควบคุมเรื่องดังกล่าวแต่ทำไมแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ถ้าเราไม่หยุดวงจรในรูปแบบนี้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมา เขาจะอยู่ในวัฏจักรอัปยศที่ส่งต่อจากคนรุ่นก่อนมาถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนแน่นอน ทั้งนี้ อยากเสนอให้สำนักงานสลากฯกลับไปแก้ไขกลไกทางการตลาด เช่น ยกเลิกพ่อค้าคนกลาง ให้สำนักงานสลากฯจัดจำหน่ายสลากฯด้วยตนเอง จะช่วยแก้ไขปัญหาราคาสลากฯได้ แต่ที่สำนักงานสลากฯยังไม่ดำเนินการอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝงบางอย่างหรือไม่ จึงอยากถามคนไทยทุกคนว่าเราภูมิใจหรือไม่ที่ประเทศของเรามีอัตราการพิมพ์สลากมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทย.

 

 

 

Cr.Sanook!